ความเคลื่อนไหว

เปิดมุมมอง “ทิศทางสื่อยุค Disruption” กับ รศ.ดร.ธีรภัทร สงวนกชกร กรรมการนโยบายไทยพีบีเอส

ศ.ดร.ธีรภัทร สงวนกชกร กรรมการนโยบายไทยพีบีเอส ร่วมเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนมุมมองด้านสื่อสารมวลชนในประเด็น "ทิศทางสื่อยุค Disruption" ผ่านรายการ SMART Life SMART Idea ทางคลื่นวิทยุมิติข่าว FM 90.5

เมื่อวันพุธที่ 2 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา รศ.ดร.ธีรภัทร สงวนกชกร กรรมการนโยบายด้านการบริหารจัดการองค์กร องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ร่วมเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนมุมมองด้านสื่อสารมวลชนในประเด็น “ทิศทางสื่อยุค Disruption” ผ่านรายการ SMART Life SMART Idea ทางคลื่นวิทยุมิติข่าว FM 90.5 โดย รศ.ดร.ธีรภัทร สงวนกชกร ได้เปิดมุมมองด้านการรับสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป และรูปแบบการทำงานของไทยพีบีเอสในบทบาทสื่อสาธารณะที่มีการปรับตัวให้เข้ากับทิศทางของสื่อยุค Disruption ในปัจจุบัน

วันนี้เกิดอะไรขึ้นบ้างกับปรากฏการณ์สื่อในปัจจุบัน
หากฉายภาพกว้าง ๆ ยุคก่อนที่เทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมจะก้าวหน้ามากขนาดนี้ เรามีสื่อหลัก คือ โทรทัศน์ วิทยุ หรือถ้าเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ก็เป็นวารสาร หนังสือและสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ คนทั่ว ๆ ไปรับสื่อเพียงเท่านี้ จะสังเกตได้ว่าเป็นสื่อที่รับสารแล้วจบไป ถ้าพลาดถือว่าเราพลาดข่าวสารนั้นไปเลย

แต่พอในยุคนี้ ข่าวสารอะไรที่เราพลาดไปสามารถกลับไปดูย้อนหลังได้ และในยุคนี้ดูเหมือนว่าทุกคนสามารถเป็นสื่อได้หมด ไม่ใช่สื่อตามความหมายของนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์ แต่สื่อในที่นี้คือการที่คุณสามารถสร้างเนื้อหา มีเครื่องมือและมีช่องทางในการส่งสื่อออกไปให้ทุกคน

ดังนั้นสิ่งที่จะต่างออกไปคือ ทุกคนเป็นสื่อได้หมด และจะได้เห็นข้อมูลซ้ำ ๆ ทั้งจากที่มีคนส่งมาให้หรือค้นหาได้เอง ดังนั้นโลกปัจจุบันจึงเป็นการสื่อสารที่บางทีเราก็ไม่แน่ใจว่าเป็นข้อมูลข่าวสารที่จริงหรือเปล่า

วันที่ข่าวสารมากมาย อย่างน้อยยังต้องมี “สื่อหลัก” เพื่อเช็ค Fake News
ในปัจจุบัน ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ ไอแพด หรือคอมพิวเตอร์ ถือว่าทุกคนมีเครื่องมือที่พร้อมจะสร้างข่าว และพร้อมที่จะส่งต่อข่าวที่อยู่ในมือ ดังนั้นการตรวจสอบข่าวสารที่จริงหรือไม่จริง ในระดับบุคคลอาจจะยากพอสมควร เพราะปัจจุบันผู้ที่สร้าง Fake news สามารถทำได้อย่างแนบเนียน ก็ต้องอาศัย “สื่อหลัก” เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริง เช่น สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ

แต่บางครั้ง สื่อหลักก็หยิบยกเนื้อหาของสื่อ Social Media มานำเสนอทางสื่อหลัก บางครั้งก็อาจพบว่าไม่ได้มีการตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งอาจทำให้ความน่าเชื่อถือของสื่อหลักลดน้อยลงไป ซึ่งเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงและอาจทำให้คนหันไปเสพสื่อ Social Media มากขึ้น

และที่น่าเป็นห่วงก็คือ บางเรื่องเป็นเรื่องจริงบางส่วนหรือเป็นเรื่องจริงที่ถูกตัดตอนมา ก็ทำให้เกิดความหมายที่แตกต่างออกไปจากบริบทเดิม ดังนั้นสื่อหลักต้องมีจุดยืนในการนำเสนอ และต้องทำในสิ่งที่คน ๆ ทั่วไปทำไม่ได้ จึงจะได้รับความน่าเชื่อถือ

การ Disruption สื่อ คือ การ Disruption ช่องทางการส่งสาร
ปัจจุบัน ในฐานะที่ทำงานองค์กรสื่อ ถือว่าทำงานยากขึ้น ถ้ามองกลับไปสมัยก่อน เรามีสื่อหลักอยู่ไม่กี่อย่างและคนทั่วไปเป็นสื่อไม่ได้ อาศัยรับสื่อจากสื่อหลักอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันข้อมูลจะจริงหรือเท็จอย่างไร จะเกิดการส่งต่อซ้ำ เช่น การส่งต่อข่าวสารในกลุ่ม LINE ต่าง ๆ ถ้าเราตามไม่ทันก็จะเกิดการหลงเชื่อกันต่อ ๆ ไป

ผมคิดว่า ที่บอกว่าการ Disruption สื่อนั้น เป็นการ Disruption ช่องทางการส่งสื่อไปถึงผู้รับสารมากกว่า เนื่องจากยังมีการผลิตเนื้อหาข่าวสารเหมือนเดิม แต่มีช่องทางการส่งข่าวสารที่เปลี่ยนไป ไม่ได้จำกัดเฉพาะหน่วยงานหรือองค์กรใหญ่ ๆ อีกต่อไปแล้ว แต่ถูกส่งต่อมายังมือคนทั่วไป ที่บางครั้งมีเพียงมือถือเครื่องเดียว คุณก็สามารถส่งข่าวสารหรือ Live สิ่งที่อยากจะสื่อสารได้ตลอดเวลา ซึ่งประเด็นนี้เป็นอันตรายกับสื่อหลักตรงที่บางครั้งจำนวนคนดูสื่อหลักบางรายการ น้อยกว่า Live ของ Influencer บางคนด้วยซ้ำ ซึ่งมีเพียงอุปกรณ์ไม่กี่อย่าง

แต่ในความเป็นจริงแล้ว “สื่อหลัก” ยังมีความจำเป็นในสังคม แม้ว่าจะต้องลงทุนใช้อุปกรณ์และกำลังคนมากกว่าในการทำสถานีโทรทัศน์ ซึ่งภายหลังไทยพีบีเอส ก็มีการปรับรูปแบบจากรถถ่ายทอดสด OB เป็นใช้อุปกรณ์ถ่ายทอดสดผ่าน 4G เป็นการทำงานแบบ “One Man Journalist” นักข่าวคนเดียวสามารถทำทุกอย่าง ตั้งแต่วิเคราะห์ ถ่ายภาพ เนื้อหา ตัดต่อ อาจรวมถึงกระบวนการออกอากาศด้วย ทำให้สื่อสารมวลชนรุ่นเก่าต้องมีการปรับตัว อีกทั้งปัจจุบันมีการเชื่อมต่อข่าวสารด้วยเทคโนโลยีคมนาคม ทำให้สามารถนำเสนอข่าวสารที่อยู่ห่างไกล โดยการถ่ายทอดสดผ่าน Social Media ได้เลยทันที

ทางรอดของ “สื่อหลัก” ในยุค Social Media
ยกตัวอย่างการทำข่าวการชุมนุม ผู้ชมก็รับข่าวสารจากการ Live เป็นจุดยากจุดหนึ่งของบทบาทสื่อสารมวลชนที่ต้องทำงานอย่างไรที่คนทั่วไปทำไม่ได้ ถ้าเน้นความรวดเร็วของการนำเสนออย่างเดียว สื่อหลักคงไม่สามารถรวดเร็วสู้ Social Media หรือบุคคลทั่วไปได้

แต่สื่อหลักจะสู้ได้โดยการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ลึกซึ้งมากขึ้น เช่น การทำ investigate Report หรือ การวิเคราะห์เจาะลึกเชิงสืบสวนสอบสวน รู้ลึก รู้จริง ซึ่งถือเป็นทางรอดทางเดียวของสื่อหลัก และองค์กรสื่อต้องจัดเตรียมช่องทางการรับชม เช่น Social Media ต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้ชมมากที่สุดได้ทุกที่ ทุกเวลา รวมถึงสามารถสื่อสารได้ 2 ทางอีกด้วย

การปรับตัวขององค์กรสื่อหลัก
ในช่วงสถานการณ์โควิดที่มีการเรียนออนไลน์มากขึ้น เราอาจรู้สึกว่าคนดูโทรทัศน์น้อยลง แต่ก็พบว่าประชากรจำนวนมากอาจยังไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทำให้สื่อโทรทัศน์ยังมีผู้รับชมอยู่มากจำนวนหนึ่ง ดังนั้นสื่อโทรทัศน์ยังสามารถไปต่อได้อีกสักช่วงหนึ่ง จึงทำให้มีผู้ชมทั้งจากกลุ่มรับชมโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ควบคู่กัน

ในด้านขององค์กรสื่อหรือสถานีโทรทัศน์ นอกจากการผลิตเนื้อหาข่าวสารและรายการแล้ว ยังต้องเตรียมช่องทางการรับชมให้กับผู้ชมด้วย ก็คือ Social Media ที่ทุกคนนิยมใช้กัน อย่างไทยพีบีเอสมีบริการ Social Media ทุกรูปแบบ ทั้ง Facebook , YouTube , Twitter , LINE , Instagram , TikTok , Blockit , Website , Podcast , Application ต่าง ๆ รวมถึงการถ่ายทอดสดต่าง ๆ ก็มีถ่ายทอดสดออกคู่ขนานทั้งหน้าจอและ Social Media

อีกทั้งไทยพีบีเอสยังพยายามผลิตเนื้อหาจากข้อมูล การวิจัยต่าง ๆ ที่น่าสนใจในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย เช่น The Visual by Thai PBS ซึ่งเป็นบริการใหม่จากไทยพีบีเอส เป็นการรวบรวมข้อมูลหลายมิติอย่างลึกซึ้ง นำมาทำเป็น Data Visualization แสดงข้อมูลเนื้อหา สถิติ ด้วยภาพและข้อความประกอบ เพื่อให้เข้าใจข้อมูลได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ไทยพีบีเอสยังมี VIPA Application หรือรับชมทางเว็บไซต์ VIPA.me ซึ่งเป็นช่องทาง OTT หรือ Over The Top ในการรับชมเนื้อหาจากไทยพีบีเอส อีกทั้งยังพยายามสร้างช่องทางที่สะดวกและง่ายต่อการรับข่าวสารของผู้ชม เช่น Thai PBS Big Sign ภาษามือใหญ่เต็มจอ สำหรับผู้พิการทางการได้ยิน, Thai PBS Chatbot เป็นต้น

หรือเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ทางสังคม ไทยพีบีเอสก็เปิดช่องทางสื่อดิจิตอลในการ Update ข้อมูลข่าวสารให้ผู้ชมสามารถติดตามได้อย่าง Realtime น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้ชม

ความเปลี่ยนแปลงของ “สื่อหลัก” สู่ “สื่อใหม่”
เมื่อก่อนเราไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ชมสื่อหลักได้ แต่ในปัจจุบันเมื่อมีผู้คนจะเข้ามารับชมหรือมีส่วนร่วมกับสื่อออนไลน์ของเรา เราสามารถที่จะมีตัวเลขที่ชัดเจนของผู้ที่ติดตามได้ เช่น Thai PBS Facebook Fan Page ช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสมีผู้ติดตามอยู่กว่า 7,029,251 คน ซึ่งในรูปแบบสื่อทีวีอาจจะไม่ทราบตัวเลขได้ขนาดนี้

ในด้านสถิติในวิจัยต่าง ๆ ชี้ว่า จำนวนผู้ติดตามรับชมระหว่างสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ แม้ว่าจะมีผู้ติดตามเท่า ๆ กัน แต่สื่อโทรทัศน์เป็นช่วงขาลง สื่อออนไลน์เป็นช่วงขาขึ้น เพราะสื่อออนไลน์เป็นสื่อที่สามารถสื่อสารได้ 2 ทาง ซึ่งเหมาะกับผู้คนในยุคปัจจุบัน

สำหรับไทยพีบีเอสได้เริ่มเปลี่ยนผ่าน พัฒนาสื่อหลักและสื่อออนไลน์ให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้ชมมาได้ 4 – 5 ปีแล้ว แต่จากนี้ไปเชื่อว่า สื่อโทรทัศน์และวิทยุจะไม่ล้มหายตายจากไป เพราะยังมีความง่ายในการรับข่าวสาร นอกจากนี้ สื่อโทรทัศน์เป็นสื่อที่ไม่มีค่าใช้จ่าย จึงเชื่อว่าสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์จะมีผู้ชมควบคู่กันไป

แต่นอกเหนือจากนี้ยังมีสื่อจากต่างประเทศ เช่น Netflix หรือ Disney Plus ที่จะมีการแบ่งสัดส่วนของผู้รับชมโทรทัศน์ไปอีกด้วย และช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนเข้าไปรับชมสื่อในช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น และผมคิดว่าสื่อวิทยุน่าจะยังอยู่รอดปลอดภัยต่อไปได้ เนื่องจากเครื่องรับวิทยุไม่แพงและเป็นสื่อที่รับข่าวสารได้ง่ายและครอบคลุมการบริการอยู่ทั่วประเทศ

สำหรับสื่อสาธารณะยักษ์ใหญ่ทั้งหลายในต่างประเทศ สื่อโทรทัศน์ก็เป็นลักษณะขาลงเช่นเดียวกัน และมุ่งไปยังสื่อออนไลน์มากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนผ่านต่าง ๆ มีองค์ประกอบทั้งผู้ชม ความนิยม และสื่อไทยเอง พบกับการ Disruption ที่ผู้ชมไปรับชมสื่อออนไลน์มากขึ้น

แต่ลองสังเกตดูว่าในเชิงเนื้อหาของหน้าจอโทรทัศน์ไทย เนื้อหาสำหรับเด็ก เยาวชน หายไปอย่างสมบูรณ์ ไทยพีบีเอสจึงสร้าง ALTV หรือ Active Learning TV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งช่อง และสามารถรับชมได้ทางออนไลน์เช่นเดียวกัน ซึ่งถือเป็นพันธกิจของไทยพีบีเอสและนำงบประมาณของรัฐมาทำตรงนี้ เพื่อตอบแทนสังคม

รับชมรายการ SMART Life SMART Idea คลื่นวิทยุมิติข่าว FM 90.5 ตอน “ทิศทางสื่อยุค Disruption”