การสรรหา

หลักเกณฑ์การสรรหาและวิธีการคัดเลือก

ประกาศคณะกรรมการสรรหากรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 1/2567

เรื่อง หลักเกณฑ์การสรรหาและวิธีการคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอรายชื่อเป็นกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย


ด้วยกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ครบกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ตามมาตรา 23 วรรคแรก และลาออก ตามมาตรา 24(2) แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ทำให้ตำแหน่งกรรมการนโยบาย ด้านการบริหารจัดการองค์กร ว่างลง จำนวน 2 คน ด้านส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่น การเรียนรู้และศึกษา การคุ้มครองและพัฒนาเด็ก เยาวชนหรือครอบครัว หรือการส่งเสริมสิทธิของผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ว่างลง จำนวน 3 คน

รวมถึงกรรมการนโยบายด้านส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่น การเรียนรู้และศึกษา การคุ้มครองและพัฒนาเด็ก เยาวชนหรือครอบครัว หรือการส่งเสริมสิทธิของผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ลาออก มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป ว่างลงอีกจำนวน 1 คน โดยจะมีวาระการดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการนโยบายผู้ซึ่งตนแทน (ครบวาระวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2570) เพื่อให้การแต่งตั้งกรรมการนโยบายขึ้นใหม่แทนกรรมการนโยบาย ที่ครบกำหนดตามวาระ และแทนกรรมการนโยบายที่ลาออกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส และเป็นธรรม คณะกรรมการสรรหากรรมการนโยบายจึงเห็นควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ขึ้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 จึงออกประกาศโดยมีรายละเอียด ดังนี้

ข้อ 1 บุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ตามประกาศนี้ ผู้สมัครหรือผู้ได้รับการเสนอชื่อจะต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิผู้มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญตามมาตรา 17 และต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 กรณีเป็นการเสนอชื่อบุคคลเพื่อขอรับการสรรหาจะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ได้รับการเสนอชื่อ

ข้อ 2 คณะกรรมการสรรหาฯ จัดให้มีการประกาศรับสมัครและการเสนอชื่อบุคคลเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางการออกอากาศ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ขององค์การ และสื่ออื่น ๆ ขององค์การ ที่ระบุสาระสำคัญและกำหนดระยะเวลาการรับสมัคร

ข้อ 3 คณะกรรมการสรรหาฯ จะตรวจสอบความรู้หรือความเชี่ยวชาญตามมาตรา 17 คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครหรือผู้ได้รับการเสนอชื่อ โดยพิจารณากลั่นกรองคุณสมบัติจากเอกสารและหลักฐานตามที่กำหนดไว้ตามมาตรา 17 และมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 และจะประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตาม วัน เวลา ที่คณะกรรมการสรรหาฯ กำหนด

ข้อ 4 คณะกรรมการสรรหาฯ จะพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครหรือผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ตามความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่ผู้สมัครหรือผู้ได้รับการเสนอชื่อระบุ โดยคำนึงถึงความรู้ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ ตลอดจนผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ ประกอบกับวิสัยทัศน์ที่ผู้สมัครหรือผู้ได้รับการเสนอชื่อระบุไว้ในเอกสารว่าสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ขององค์การตามที่กำหนดไว้มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 แล้วคัดเลือกรายชื่อผู้ที่เหมาะสมจำนวน ไม่น้อยกว่าสองเท่าของตำแหน่งที่จะต้องแต่งตั้งในแต่ละด้าน ก่อนจะประกาศรายชื่อผู้ที่เหมาะสมดังกล่าว

ข้อ 5 ผู้สมัครหรือผู้ได้รับการเสนอชื่อที่ผ่านหลักเกณฑ์ตามข้อ 3 และข้อ 4 ต้องแสดงตนเพื่อนำเสนอวิสัยทัศน์ด้วยวาจาต่อที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาฯ โดยใช้การเรียงลำดับชื่อตามตัวอักษร ตาม วัน เวลา ที่คณะกรรมการสรรหาฯ กำหนด ณ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ซึ่งผู้สมัครหรือผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องดำเนินการ ดังนี้

(1)  แนะนำตนเอง พร้อมกับแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในด้านการบริหารจัดการองค์กร หรือด้านส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่น การเรียนรู้และศึกษา การคุ้มครองและพัฒนาเด็ก เยาวชนหรือครอบครัว หรือการส่งเสริมสิทธิของผู้ด้อยโอกาสทางสังคม แล้วแต่กรณี

(2) แสดงวิสัยทัศน์ในเรื่องนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางการใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 และมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย สาธารณะ และประเทศชาติโดยรวม

(3) ผู้สมัครหรือผู้ได้รับการเสนอชื่อแต่ละคนใช้เวลาในการชี้แจง แสดงวิสัยทัศน์และตอบคำถามด้วยวาจาต่อคณะกรรมการสรรหาฯ ได้ไม่เกิน 15 นาที โดยไม่อนุญาตให้ใช้สื่อ เอกสาร และอุปกรณ์อื่นใดประกอบการนำเสนอ ยกเว้นอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการในการสื่อสาร

(4) ผู้สมัครหรือผู้ได้รับการเสนอชื่อที่ไม่มาแสดงตนเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ด้วยวาจาและตอบคำถามต่อคณะกรรมการสรรหาฯ ในวัน เวลา และสถานที่ตามที่คณะกรรมการสรรหาฯ กำหนดให้ถือว่าผู้สมัครหรือผู้ได้รับการเสนอชื่อคนนั้นสละสิทธิ์การขอรับการเสนอชื่อเป็นคณะกรรมการนโยบาย

ข้อ 6 คณะกรรมการสรรหาฯ จะคัดเลือกผู้สมัครหรือผู้ได้รับการเสนอชื่อที่ได้แสดงตนและวิสัยทัศน์ตามข้อ ๕ ให้เหลือหกคนโดยวิธีลงคะแนน

ข้อ 7 การลงคะแนนเสียงตามข้อ 6 กรรมการสรรหาแต่ละคนออกเสียงได้ไม่เกินจำนวนตำแหน่งที่ต้องแต่งตั้ง และผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกจะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการสรรหาฯ ทั้งคณะ

ข้อ 8 กรณีที่จำนวนผู้ที่ได้รับการคัดเลือกมีจำนวนไม่ครบตามตำแหน่งที่ต้องการ ให้นำรายชื่อผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกตามข้อ 6 เรียงตามลำดับคะแนนเสียงจากคะแนนสูงสุดลงไปเป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนตำแหน่ง ที่ยังขาดอยู่ มาลงคะแนนตามวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อ 6 และข้อ 7 จนกว่าจะได้จำนวนครบตามที่ต้องการ

ในกรณีผู้ได้รับการคัดเลือกมีคะแนนเสียงเท่ากันมากกว่าหนึ่งชื่อ เป็นเหตุให้เกินจำนวนที่ต้องการ คณะกรรมการสรรหาฯ จะนำรายชื่อผู้มีคะแนนเสียงเท่ากันทั้งหมดนั้นมาลงคะแนนโดยใช้วิธีการเช่นเดียวกับวรรคหนึ่ง

การดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง หากผลการลงคะแนนเสียงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดในข้อ 7 ถึง 3 ครั้งต่อตำแหน่งที่ว่าง ให้ใช้วิธีการนับคะแนนเสียงข้างมากเป็นหลัก

ข้อ 9 เมื่อได้รายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการนโยบายแล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาฯคัดเลือกรายชื่อจากผู้สมัครหรือผู้ได้รับการเสนอชื่อที่เหลืออยู่อีกครั้ง เพื่อให้ได้รายชื่อสำรองเท่าจำนวนของแต่ละด้านที่ต้องสรรหา

ในกรณีที่ผู้ได้รับการคัดเลือกสละสิทธิ์หลังสิ้นสุดกระบวนการสรรหา ให้คณะกรรมการสรรหาฯ นำรายชื่อสำรองตามลำดับที่ได้คัดเลือกไว้เสนอแทนได้

ข้อ 10 ผู้ได้รับการคัดเลือกจะต้องยินยอมให้คณะกรรมการสรรหาฯ เสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการนโยบาย พร้อมหลักฐานแสดงการมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 โดยแบ่งเป็น

(1) ทดแทนกรรมการนโยบาย ด้านการบริหารจัดการองค์กร จำนวน 2 คน ที่ครบวาระ ดำรงตำแหน่ง 4 ปี

(2) ทดแทนกรรมการนโยบายด้านส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่น การเรียนรู้และศึกษา การคุ้มครองและพัฒนาเด็ก เยาวชนหรือครอบครัว หรือการส่งเสริมสิทธิของผู้ด้อยโอกาสทางสังคม จำนวน 3 คน ที่ครบวาระ ดำรงตำแหน่ง 4 ปี

(3) ทดแทนกรรมการนโยบายด้านส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่น การเรียนรู้และศึกษา การคุ้มครองและพัฒนาเด็ก เยาวชนหรือครอบครัว หรือการส่งเสริมสิทธิของผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ที่ลาออกจำนวน 1 คน ให้ดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการนโยบายผู้ซึ่งตนแทน (ครบวาระวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2570)

ข้อ 11 กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้คณะกรรมการสรรหาฯ เป็นผู้วินิจฉัยและต้องมีมติไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการสรรหาฯ ทั้งคณะ โดยคำวินิจฉัยและมติที่ประชุมของคณะกรรมการสรรหาฯ ให้ถือเป็นที่สุด


เอกสารเกี่ยวข้อง

  • ประกาศหลักเกณฑ์การสรรหาและวิธีการคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอรายชื่อเป็นกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ดาวน์โหลด)
  • พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ดาวน์โหลด)