ความเคลื่อนไหว

กรรมการนโยบายและผู้บริหาร ส.ส.ท. ร่วมมองอนาคตสื่อกับผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำด้านเทคโนโลยี

ท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทางด้านเทคโนโลยีซึ่งมีผลกระทบต่ออนาคตด้านการสื่อสารและพฤติกรรมผู้บริโภค เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ผู้บริหาร ส.ส.ท. (ไทยพีบีเอส) จึงได้จัดวงเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำด้านเทคโนโลยีทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 5 คน

  1. คุณสิทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม
  2. คุณพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5 G True Corp.(Director strategic project 5 G, True Corp. Public Co., Ltd.)
  3. คุณพัลลภา หาญสุจินต์ Director Infrastructure & ICT Solution Department, UIH (United Information Highway) Co., Ltd.
  4. คุณวรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม (Chief Technology Officer (CTO), Carrier Network Business Group),
    Huawei Technologies (Thailand) Co., Ltd.(CTO Carrier Network Business Group)
  5. ดร.วงกต วิจักขณ์สังสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานดิจิทัล บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)

เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงแนวทางและการทำงานของ ส.ส.ท. ให้เหมาะสมกับสถานการณ์

ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีต่างเห็นตรงกันว่าปัจจุบันบทบาทของสื่อในรูปแบบการกระจายภาพและเสียงสู่ผู้ชมผู้ฟัง (Broadcast) ลดลงตามลำดับ จำนวนผู้ชมโทรทัศน์น้อยลงมาก เนื่องจากมีช่องทางออนไลน์เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย ขณะเดียวกันพฤติกรรมการรับสื่อก็เปลี่ยนแปลงไปรับสื่อออนไลน์มากขึ้น ทั้งที่ผลิตโดยสื่อหลัก สื่อท้องถิ่นและสื่อภาคประชาชน แม้สื่อโทรทัศน์จะยังมีผู้ชมอยู่แต่จำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้ชมตามผังรายการ แต่ไปชมรายการย้อนหลังในช่องทางอื่น รวมทั้งชมรายการที่ส่งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Streaming Technology)

ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีแนะนำว่า ส.ส.ท.ควรต้องปรับตัวโดยให้ความสำคัญกับเรื่องการเข้าถึงและทั่วถึง โดยต้องปรับทั้งเนื้อหา (Content) และช่องทาง (Platform) รวมทั้งรูปแบบการนำเสนอให้สอดคล้องกับแต่ละช่องทางและกลุ่มเป้าหมาย ในส่วนของการผลิตเนื้อหานั้น ผู้ทรงคุณวุฒิมองว่า ส.ส.ท.อาจดึงผู้ผลิตเนื้อหาภายนอกที่มีศักยภาพมาร่วมสร้างสรรค์เนื้อหาและเผยแพร่ทางช่องทางต่างๆ ของ ส.ส.ท. อาจให้ผู้ผลิตภายนอกร่วมนำเสนอเนื้อหาโดยผ่านการกลั่นกรองของ ส.ส.ท. เพื่อให้เกิดความหลากหลายและขยายฐานผู้ชมออกไปให้กว้างขวางขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีมองว่ารูปแบบการกระจายภาพและเสียงสู่ผู้ชมผู้ฟังแบบเดิมอย่างโทรทัศน์ก็จะยังคงอยู่ แต่ควรปรับปรุงวิธีการนำเสนอเพื่อดึงดูดผู้ชม โดยเน้นความรวดเร็วและความสดใหม่ รวมถึงการสื่อสารแบบมีปฏิสัมพันธ์ (Interactive) หรือการสื่อสารสองทาง (Two-way Communication)

นอกจากนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิยังเห็นว่า การนำข้อมูลมาวิเคราะห์ (Data Analytics) จะเป็นประโยชน์ในการผลิตและสร้างสรรค์รายการให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายในทุกช่องทาง พร้อมทั้งแนะนำให้ ส.ส.ท.ทำแผนการลงทุนที่สามารถรองรับเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศได้หลายระบบพร้อมกัน เพื่อให้สามารถใช้งานในการเปลี่ยนผ่านได้ครอบคลุมระบบใหม่ในอนาคต