ความเคลื่อนไหว

ผลการประเมินการดำเนินงานประจำปี 2564 ส.ส.ท.เป็นกลาง น่าเชื่อถือและสังคมพึ่งพาได้

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 คณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงาน ส.ส.ท. ปี 2564 พร้อมคณะวิจัยจากศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รายงานผลการประเมินการดำเนินงานขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบาย ซึ่งมีคณะกรรมการบริหาร และผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องร่วมรับฟัง และแลกเปลี่ยนข้อมูล

ในครั้งนี้การประเมินเน้นที่การประเมินประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และการพัฒนาองค์การ ผลของการประเมินพบว่า ส.ส.ท.คงไว้ซึ่งจุดแข็งในการนำเสนอเนื้อหาที่เป็นสาระประโยชน์ต่อสาธารณะ มีความเป็นกลาง เป็นสื่อที่เชื่อถือและเป็นที่พึ่งของสังคมได้ บุคลากรของ ส.ส.ท.มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานด้วยความมุ่งมั่น โดยเฉพาะในปี 2564 ซึงเป็นช่วงเวลาของการประเมินผล ประเทศไทยเผชิญกับโรคระบาดโควิด-19 ส.ส.ท.ได้ปรับผังรายการทั้งทางสถานีโทรทัศน์ และทุ่มเททรัพยากรในทุกช่องทางสื่อเพื่อเสนอข่าวสารให้ประชาชนรับรู้และพร้อมรับมือกับโรคระบาด รวมทั้งดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค นับว่าเป็นการทำงานที่คุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง

ภายหลังรับฟังการรายงานของคณะวิจัยแล้ว รองศาสตราจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบายได้สรุปข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ เพื่อให้ฝ่ายบริหารนำไปพิจารณาเพื่อพัฒนา ส.ส.ท.ให้ดียิ่งขึ้น ดังนี้

  • ผลการประเมินพบว่า ผู้ชมมีความเชื่อถือและไว้วางใจ ส.ส.ท. แต่จำนวนผู้ชมยังไม่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับระดับความน่าเชื่อถือและไว้วางใจที่ได้รับ ส.ส.ท.ควรจะต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร

  • ผู้ชมอายุระหว่าง 15 ถึง 19 ปีติดตามชมรายการของ ส.ส.ท. โดยเฉพาะทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 HD มีจำนวนน้อยกว่าผู้ชมอายุระหว่าง 30 ถึง 59 ปีมาก จะทำอย่างไรให้ ส.ส.ท.สามารถเข้าถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น
  • พนักงานและผู้ปฏิบัติงานบางส่วนอ้างว่า การมีกฎเกณฑ์ จรรยาบรรณ และจริยธรรมของวิชาชีพที่เคร่งครัด รวมทั้งการมีคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในเรื่องการผลิตและเผยแพร่ข่าวและรายการ เป็นอุปสรรคต่อความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่กล้าคิดสิ่งที่แปลกใหม่ ทำลายขวัญกำลัง ประเด็นนี้จริงหรือไม่

  • ในยุคที่ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ในปัจจุบัน ข่าวปลอมเกิดขึ้นในสังคมมาก ส.ส.ท.ควรมีส่วนในการทำให้สังคมตระหนักและรู้เท่าทันสื่อหรือไม่อย่างไร อาทิ สร้างศูนย์ข้อมูลหรือแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่ายและสะดวกเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบความถูกต้องก่อนเผยแพร่

  • สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการถูกออกแบบและกำหนดภารกิจตามพระราชบัญญัติ ส.ส.ท. ให้รับฟังความคิดเห็นและคำแนะนำจากประชาชนในวงกว้างเพื่อพัฒนาการให้บริการและการผลิตรายการให้มีคุณภาพ สอดคล้องกับประโยชน์สาธารณะและสังคม แต่ปัจจุบันมีสมาชิกสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการจำนวนหนึ่งยังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการมีสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ มีข้อเสนอว่า ส.ส.ท.ควรมีส่วนร่วมทำงานใกล้ชิดกับสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการให้มากขึ้น เพื่อให้สมาชิกสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการทั้งชุดปัจจุบันและที่จะได้รับการสรรหาเข้ามาใหม่ ได้เข้าใจบทบาทและสามารถปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งมากขึ้น ในเรื่องนี้จะดำเนินการอย่างไรให้เหมาะสมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติ

  • แม้องค์การจะมีความมั่นคงทางการเงินพอสมควร แต่ ส.ส.ท.ควรกระจายแหล่งที่มาของรายได้ เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนทางการเงินขององค์การเพิ่มขึ้นหรือไม่

  • การประเมินผลสัมฤทธิ์ของ ส.ส.ท.ในอนาคตอาจไม่ประเมินเพียงจำนวนผู้ชม และจำแนกผู้ชมตามอายุเท่านั้น แต่ควรต้องประเมินถึงลักษณะของผู้ชม โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำทางความคิดของสังคมว่าได้ติดตามชม ส.ส.ท.ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ มากน้อยอย่างไร รวมถึงผู้ชมที่เข้าถึงทั้งทางหน้าจอโทรทัศน์และทางออนไลน์ในลักษณะใด

ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.เห็นว่า การประเมินผลการดำเนินงานของ ส.ส.ท. ปี 2564 นี้ มีประโยชน์ สมควรที่พนักงานทุกฝ่ายจะได้รับรู้ในรายละเอียดและนำการประเมินและข้อแนะนำไปพัฒนาหน่วยงานของตน ให้ส.ส.ท.เป็นองค์การสื่อสาธารณะที่ก้าวหน้าเพื่อประโยชน์ของสังคมไทยอย่างแท้จริง