ความเคลื่อนไหว

ไทยพีบีเอส ก้าวสู่ปีที่ 13 เน้น 6 เป้าหมาย พร้อมดัน 3 วาระ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ไทยพีบีเอสเดินหน้าขับเคลื่อนเนื้อหากระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ชูเป้าหมาย 6 ด้าน ย้ำพันธกิจสื่อสาธารณะ ให้สาระประโยชน์เข้าถึงประชาชนมากยิ่งขึ้น พร้อมวางแนวทางผลักดัน 3 วาระรณรงค์

12 ปีที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสให้ความสำคัญกับการผลักดันประเด็นทางสังคมจนเกิดเป็นวาระที่สังคมให้ความใส่ใจ รวมถึงในบางประเด็นได้รับการผลักดันสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย และในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 13 ไทยพีบีเอสจึงตอกย้ำจุดยืนในการที่จะมุ่งมั่นทำหน้าที่สื่อสาธารณะให้เป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจน โดยเสริมความเข้มข้นด้วยจุดเน้น 6 ด้าน ประกอบไปด้วย

ด้านที่หนึ่ง ข่าวเจาะลึก ถูกต้อง รอบด้าน เป็นธรรมไทยพีบีเอสยังคงยืนหยัดบนการทำข่าวที่ปราศจากอคติ ไม่แบ่งแยก พยายามที่จะสร้างความเข้าใจในความเห็นที่หลากหลาย และจะเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ของประชาชน ควบคู่ไปกับการเสนอข่าวแบบร่วมหาทางออกให้กับสังคม โดยในปี 2563 นี้ ผู้ชมจะได้ติดตามเหตุการณ์ใหญ่ ๆ ระดับโลกและภูมิภาคที่ส่งผลกระทบถึงประเทศไทย ผ่านรายการข่าวทุกช่องทางของไทยพีบีเอส อาทิ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ไทยพีบีเอสจะวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ทุกแง่ทุกมุม เพื่อสร้างความเข้าใจ และความเกี่ยวข้องกับคนไทย รวมถึงนโยบายด้านต่างประเทศ มหกรรมกีฬาโอลิมปิก Tokyo 2020 ผู้ชมจะได้พบการรายงานที่ไม่ใช่แค่เพียงผลการแข่งขัน แต่จะมีรายการวาไรตี้ “กีฬาล่าฝัน One Dream” เจาะถึงจุดเริ่มต้นแนวคิดพัฒนานักกีฬาของเจ้าภาพญี่ปุ่น ไปจนถึงความสำเร็จด้านกีฬา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนของไทย และ การติดตามอิทธิพลของจีน ในมิติด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ไทยพีบีเอสจะทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบและเปิดพื้นที่ให้ภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนกำหนดอนาคตการพัฒนา EEC ให้สอดคล้องไปกับประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ และนำเสนอเรื่องราวที่สะท้อนความจริงของทั้งภูมิภาค

ด้านที่สอง รายการสร้างสรรค์ ไทยพีบีเอสวางเป้าหมายไว้ที่การสร้างพลเมืองที่มีทักษะแห่งอนาคต บนฐานรากของความรู้ และการหยั่งลึกในคุณค่าวัฒนธรรม ละคร “ปลายจวัก” ที่ออกอากาศไปแล้ว ถือเป็นรูปแบบใหม่ของละครไทยที่นำเอาการศึกษาเรื่องวัฒนธรรมอาหารไทยอย่างลึกซึ้งมาผสมผสานเข้าไว้อย่างกลมกล่อม และในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ไทยพีบีเอสจะนำเสนอละครเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของสองประเทศ “จากเจ้าพระยา สู่อิรวดี” ที่จะทำให้มุมมองของคนไทยต่อประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อโยธยา-หงสาวดี ชัดเจนขึ้น และเป็นละครที่ผู้ชมจะได้รับสุนทรียะจากนาฏศิลป์ชั้นสูงของสองประเทศอีกด้วย

ในกลุ่มสารคดี ไทยพีบีเอสจะนำเสนอสารคดีชั้นเยี่ยมตลอดทั้งปี อาทิ สารคดีสะท้อนวัฒนธรรม ชุด “คนชายขอบ” ที่ว่าด้วยการดำเนินชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยที่มีการปรับตัวให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง สารคดีชุด “วิถีอาเซียน” ที่ครอบคลุมทั้งคุณค่าทางวัฒนธรรมและวิถีความเชื่อ ภาพยนตร์ สารคดีสะท้อนสังคมชุด “วงแหวนใต้สำนึก” ที่เล่าสภาพเป็นจริงของผู้ที่มีอาการจิตเภท เสนอแนวทางการอยู่ร่วมกันในสังคม และสารคดีที่มีการเล่าเรื่องแบบใหม่ ๆ ที่เหมาะกับช่องทาง Online และ Streaming เน้นทำให้เกิดแรงบันดาลใจต่อการลงมือทำ

นอกจากนี้ ไทยพีบีเอสยังมุ่งผลิตสารคดี และรายการเด็กที่เป็นความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ในปี 2563 นี้ผู้ชมจะได้พบกับ รายการ Co-Production กับสถานีโทรทัศน์สาธารณะ PTS จากไต้หวัน เป็นการเดินทางไปสำรวจวิถีชีวิตชุมชนที่คล้ายคลึงกันระหว่างไทยกับไต้หวัน มีแผนที่จะเผยแพร่ในไตรมาสที่ 2 สารคดีชุด The Sixth Mass Extinction หรือการสูญพันธุ์ครั้งที่หกของสัตว์ตามธรรมชาติ ร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์สาธารณะ EBS จากเกาหลีใต้ จำนวน 5 ตอน มีกำหนดเผยแพร่ช่วงไตรมาสที่ 4 รวมทั้งความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรในประเทศ เช่น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดทำและเผยแพร่สื่อที่มีเนื้อหาถูกต้องด้านสุขภาพ มีการร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ผลิตรายการสนับสนุนคนรุ่นใหม่สู่การเป็น Start Up และ ร่วมกับ อพวช. หรือ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ในการผลิตรายการ บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ที่ได้รับรางวัลเป็นประจำเกือบทุกปี ความคาดหวังของไทยพีบีเอสคือการมอบผลงานฝีมือคนไทยที่ดีที่สุดให้กับสังคม

สำหรับการเข้าถึงเนื้อหาของคนพิการ จำนวนชั่วโมงออกอากาศของรายการที่มีเสียงบรรยายภาพ (AD) คำบรรยายเสียง (CC) และภาษามือมีจำนวนมากที่สุดในกลุ่มสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลซึ่งมากกว่ามาตรฐานของ กสทช.กำหนด โดยในปี 2563 นี้ ไทยพีบีเอสมีเป้าหมายจะให้บริการเพิ่มเป็น 20% หรือมากกว่า 4 ชม./วัน รวมถึง platform ใหม่ คือ Big Sign

ด้านที่สาม พัฒนาเทคโนโลยี และเพิ่มช่องทางที่เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา ปีนี้ไทยพีบีเอสมีแผนขยายการให้บริการหลากหลาย เช่น ทดลองผลิตงานออกอากาศในระบบ 4K รับชม VIPA ได้ทาง Smart TV ผลิตงาน innovation เช่น 360/VR และ Data Visualization มากขึ้น บุก Podcast เต็มที่ และทำงานกับพันธมิตรด้าน Platform รวมทั้งเครือข่ายวิทยุท้องถิ่นมากขึ้น และที่สำคัญ คือ ปรับปรุงอุปกรณ์โครงข่ายให้รองรับการเปลี่ยนคลื่นความถี่ 700 MHz ให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด

ด้านที่สี่ สร้างสรรค์พื้นที่การเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นโรงเรียนของสังคม ปีที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสได้ขยายต่อยอดผู้ใช้ประโยชน์ จากสื่อรายการไปสู่เด็กนักเรียนและครูจำนวนหลายหมื่นคน ในปีนี้ไทยพีบีเอสจะทำต่อเนื่อง และเน้นไปที่การสร้างกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อเตรียมทักษะแห่งอนาคตที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเด็ก ๆ ในชุมชน

ด้านที่ห้า การบริหารงานองค์กรให้มีประสิทธิภาพบนฐานธรรมาภิบาล ด้วยแนวคิด คุ้มค่า ถูกต้อง คล่องตัว และตั้งเป้าผลประเมินองค์กรคุณธรรมและความโปร่งใส (ITA) ให้ขึ้นถึงระดับ 90 คะแนน เร่งพัฒนาบุคลากรและระบบการทำงานให้เป็น Digital and Data driven มากขึ้น และเมื่อต้นปีนี้ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กร ให้มีหน่วยงานพิเศษด้านการผลิตสื่อที่เป็นจุดแข็งของไทยพีบีเอส

ด้านที่หก ยกระดับพื้นที่สื่อพลเมืองและเสริมพลังความร่วมมือ ไทยพีบีเอสเริ่มผลิตเนื้อหารายการที่แยกกันระหว่าง Online – On Air แยกระหว่างจอ Vertical (แนวตั้ง) กับ แนวนอน และยังสามารถแยกการรับชมพร้อมกันทาง Online ของพื้นที่เหนือ อีสาน ใต้ ใช้เทคโนโลยีที่สร้างการ Disrupt เหล่านี้ มาสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ภาคพลเมือง นอกเหนือจากการมีบริการ C-Site application แล้ว ในปีนี้จะมีโครงการฟังเสียงประเทศไทย ที่ออกไปทำเวทีรับฟังแบบ Live ในหมู่บ้าน และเชื่อมประเด็นข้อเสนอเหล่านั้นมาสื่อสารตรงกับผู้กำหนดนโยบายด้วย

นอกจากเป้าหมาย 6 ด้าน ในปีนี้ไทยพีบีเอสยังขับเคลื่อนเนื้อหาที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่าน 3 วาระรณรงค์ เป้าหมายที่คาดหวัง คือ การเปลี่ยนบรรทัดฐานของสังคมที่มีผลต่อทัศนคติและพฤติกรรม โดยใน 3 วาระนี้ ประกอบไปด้วย การจัดการขยะ ภายใต้แคมเปญ โลกนี้ไม่มีขยะ #ใช้น้อยใช้ซ้ำทำใหม่ ซึ่งเป็นการรณรงค์ให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง การเสนอทางออกในส่วนปากท้องประชาชน พอเพียง พอใช้ ไร้หนี้ ผลิตรายการที่ส่งเสริมให้ประชาชนลดหนี้สินบุคคลและครัวเรือน พร้อมกับน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาเป็นทักษะหลักของการพัฒนาคุณภาพชีวิต และวาระการกระจายอำนาจ ที่คาดหวังสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไทยพีบีเอสจะทำหน้าที่เป็นเสมือน “จุดคานงัด” เพื่อร่วมกันผลักดันประเด็นเหล่านี้กับทุกภาคส่วน และจะเป็นพื้นที่กลางเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาและลดช่องว่างระหว่างนโยบายกับประชาชน