ความเคลื่อนไหว

กรรมการนโยบายและผู้บริหาร ส.ส.ท. แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อนำไปพัฒนาสื่อสาธารณะให้สมสมัย

ผู้บริหาร ส.ส.ท. (ไทยพีบีเอส) เปิดกว้างรับฟังทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงแนวทางและการทำงานของ ส.ส.ท.ให้เหมาะสมกับภูมิทัศน์สื่อและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 คณะกรรมการนโยบาย ร่วมกับคณะผู้บริหาร ส.ส.ท. ได้พบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งมาจากหลากหลายอาชีพรวม 12 คน ทั้งนักวิชาการ นักธุรกิจรุ่นใหม่ สื่อท้องถิ่น สื่อทางเลือก องค์กรพัฒนาด้านสังคม และสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ เพื่อรับฟังมุมมองของคนรุ่นใหม่ต่อสื่อสาธารณะ

จากการแลกเปลี่ยนพบว่าคนรุ่นใหม่ทั้งหมด ไม่ดูทีวีแต่เสพสื่อทั่วไปรวมทั้งไทยพีบีเอสผ่านสื่อสังคมออนไลน์และแอปพลิเคชันต่าง ๆ และเห็นว่า ส.ส.ท.ควรจะต้องเดินไปในทิศทางนี้ แต่ถึงกระนั้นพวกเขาก็ยังเห็นว่าสื่อดั้งเดิมทั้งวิทยุและโทรทัศน์ยังเป็นความจำเป็นสำหรับคนส่วนหนึ่งที่ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต หรือมีปัญหาอันเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพราะสื่อสาธารณะเป็นของคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงสื่ออื่นได้

นอกจากนั้น บางคนยังเห็นว่าสื่อสาธารณะต้องทำหน้าที่มากกว่าเพียงการผลิตและเผยแพร่รายการ แต่จะต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วม ด้วยการเปิดเวทีและร่วมขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ขยายบทบาทไทยพีบีเอสให้เป็นตัวเชื่อมทุกภาคส่วน และมีส่วนในการผลักดันในเชิงนโยบาย รวมทั้งทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและแนะนำ (incubator) กับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ นอกจากนั้นยังสามารถเป็นพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ด้วย

ในส่วนของการเสนอข่าวนั้น ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนครั้งนี้เห็นตรงกันว่าในฐานะสื่อสาธารณะแล้ว นอกจากจะต้องรายงานข้อเท็จจริงครบถ้วน แม่นยำ ตรงไปตรงมา มีความแตกต่างแล้ว ควรจะต้องมีอิสระในการรายงานข่าวในทุกประเด็นที่ประชาชนสนใจและเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยปราศจากการปิดกั้น ซึ่งส่วนใหญ่พอใจกับบทบาทที่ผ่านมาของไทยพีบีเอส

ในส่วนของการจัดการข้อมูล ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเห็นว่า ส.ส.ท.มีข้อมูลจำนวนมากที่เป็นประโยชน์แต่ข้อมูลเหล่านั้นกระจัดกระจาย ควรจะมีการจัดระเบียบข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ภายในองค์กร หากสามารถให้บริการภายนอกได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะด้วย

ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งเห็นว่า สื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอสต้องเป็นอิสระจากเรตติ้ง ผลประโยชน์ธุรกิจ และมีระยะห่างกับรัฐบาลที่เหมาะสม ไทยพีบีเอสควรใช้ทีวีในการเชื่อมความเห็นของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกัน สามารถเป็นพื้นที่ให้กับผู้ผลิตขนาดเล็กได้

ผู้เข้าร่วมอีกคนเห็นว่า ที่ผ่านมาไทยพีบีเอสไม่ได้เน้นแต่เพียงการผลิตสื่อ แต่ได้เข้าร่วมกับเครือข่าย ภาคประชาสังคม ชุมชน ในกระบวนการพัฒนา ซึ่งนับว่าเป็นความก้าวหน้าขององค์กรสื่อ

ผู้เข้าร่วมคนหนึ่ง สารภาพว่าไม่ได้ดูทีวีนานแล้ว แต่แม่บอกว่า “Thai PBS เปิดดูได้ตลอดทั้งวัน” อีกคนหนึ่งบอกว่า ชอบละคร “ครูมะ ห้อง ป 3 ก” มาก เมื่อถามว่าไม่ได้ดูทีวีแล้วรู้ได้อย่างไรว่าดี ก็ตอบว่า เพื่อนส่งลิงก์มาให้ดูทางออนไลน์

รศ. ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบาย กล่าวว่า ในวันนี้ ส.ส.ท.ได้แรงบันดาลใจที่จะไปทำต่อในอีกหลายเรื่อง และอยากให้คนรุ่นใหม่มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวงเสวนาอื่น ๆ ให้มากขึ้น ที่สำคัญคือจะต้องมีความร่วมมือในการทำงานร่วมกันกับ ส.ส.ท. ในอนาคต การทำงานร่วมกับสื่อท้องถิ่น สื่อทางเลือก และสื่ออื่น ๆ จะเกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ มากยิ่งขึ้น


กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยน

  • คุณเพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา จ.เชียงราย
  • คุณโยธิน ทองพะวา ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย
  • คุณฉัตรบดินทร์ อาจหาญ Content Creator ผู้ขับเคลื่อนเพจ inskru
  • คุณธนิสรา เรืองเดช CEO & Co-Founder Punch Up World Co., Ltd.
  • คุณธรรมวิทย์ ลิ้มเลิศเจริญวนิช กลุ่มสกลเฮ็ด นักธุรกิจกลุ่ม YEC สกลนคร
  • คุณฉัตรชัย พุ่มพวง เพจ PUD และสมาชิกสหภาพคนทำงาน
  • คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ CEO StartDee สตาร์ทอัพเพื่อการศึกษา
  • คุณพชร คำชำนาญ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ
  • คุณภณวาท โกชุม CEO กลุ่มไอเชียงใหม่
  • คุณมารุต ชุ่มขุนทด กลุ่ม Valaverse ผู้ประกอบการ Class Cafe จ.นครราชสีมา
  • คุณมุตตากีน ยานยา เลขานุการสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ
  • ผศ. ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ.

ผู้ดำเนินรายการ

คุณวิภาพร วัฒนวิทย์ ผู้ช่วยบรรณาธิการ / ผู้ประกาศข่าว ฝ่ายพัฒนาเครือข่ายนักสื่อสารพลเมือง สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วม