กรรมการนโยบายและผู้บริหาร ส.ส.ท. ร่วมมองอนาคตสื่อกับผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำด้านเทคโนโลยี
ท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทางด้านเทคโนโลยีซึ่งมีผลกระทบต่ออนาคตด้านการสื่อสารและพฤติกรรมผู้บริโภค เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ผู้บริหาร ส.ส.ท. (ไทยพีบีเอส) จึงได้จัดวงเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำด้านเทคโนโลยีทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 5 คน
- คุณสิทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม
- คุณพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5 G True Corp.(Director strategic project 5 G, True Corp. Public Co., Ltd.)
- คุณพัลลภา หาญสุจินต์ Director Infrastructure & ICT Solution Department, UIH (United Information Highway) Co., Ltd.
- คุณวรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม (Chief Technology Officer (CTO), Carrier Network Business Group),
Huawei Technologies (Thailand) Co., Ltd.(CTO Carrier Network Business Group) - ดร.วงกต วิจักขณ์สังสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานดิจิทัล บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงแนวทางและการทำงานของ ส.ส.ท. ให้เหมาะสมกับสถานการณ์
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีต่างเห็นตรงกันว่าปัจจุบันบทบาทของสื่อในรูปแบบการกระจายภาพและเสียงสู่ผู้ชมผู้ฟัง (Broadcast) ลดลงตามลำดับ จำนวนผู้ชมโทรทัศน์น้อยลงมาก เนื่องจากมีช่องทางออนไลน์เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย ขณะเดียวกันพฤติกรรมการรับสื่อก็เปลี่ยนแปลงไปรับสื่อออนไลน์มากขึ้น ทั้งที่ผลิตโดยสื่อหลัก สื่อท้องถิ่นและสื่อภาคประชาชน แม้สื่อโทรทัศน์จะยังมีผู้ชมอยู่แต่จำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้ชมตามผังรายการ แต่ไปชมรายการย้อนหลังในช่องทางอื่น รวมทั้งชมรายการที่ส่งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Streaming Technology)
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีแนะนำว่า ส.ส.ท.ควรต้องปรับตัวโดยให้ความสำคัญกับเรื่องการเข้าถึงและทั่วถึง โดยต้องปรับทั้งเนื้อหา (Content) และช่องทาง (Platform) รวมทั้งรูปแบบการนำเสนอให้สอดคล้องกับแต่ละช่องทางและกลุ่มเป้าหมาย ในส่วนของการผลิตเนื้อหานั้น ผู้ทรงคุณวุฒิมองว่า ส.ส.ท.อาจดึงผู้ผลิตเนื้อหาภายนอกที่มีศักยภาพมาร่วมสร้างสรรค์เนื้อหาและเผยแพร่ทางช่องทางต่างๆ ของ ส.ส.ท. อาจให้ผู้ผลิตภายนอกร่วมนำเสนอเนื้อหาโดยผ่านการกลั่นกรองของ ส.ส.ท. เพื่อให้เกิดความหลากหลายและขยายฐานผู้ชมออกไปให้กว้างขวางขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีมองว่ารูปแบบการกระจายภาพและเสียงสู่ผู้ชมผู้ฟังแบบเดิมอย่างโทรทัศน์ก็จะยังคงอยู่ แต่ควรปรับปรุงวิธีการนำเสนอเพื่อดึงดูดผู้ชม โดยเน้นความรวดเร็วและความสดใหม่ รวมถึงการสื่อสารแบบมีปฏิสัมพันธ์ (Interactive) หรือการสื่อสารสองทาง (Two-way Communication)
นอกจากนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิยังเห็นว่า การนำข้อมูลมาวิเคราะห์ (Data Analytics) จะเป็นประโยชน์ในการผลิตและสร้างสรรค์รายการให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายในทุกช่องทาง พร้อมทั้งแนะนำให้ ส.ส.ท.ทำแผนการลงทุนที่สามารถรองรับเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศได้หลายระบบพร้อมกัน เพื่อให้สามารถใช้งานในการเปลี่ยนผ่านได้ครอบคลุมระบบใหม่ในอนาคต