ความเคลื่อนไหว

คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.เยี่ยมไรซ์ไทยแลนด์ กาฬสินธุ์ โครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัย

สืบเนื่องจาก ส.ส.ท.เป็นองค์กรสื่อสาธารณะที่นอกจากผลิตและเผยแพร่ทั้งสารประโยชน์และสาระบันเทิงทั่วไป ยังมีภารกิจในการผลิตและเผยแพร่รายการที่ส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและรายการที่ส่งเสริมการศึกษาในวิทยาการสาขาต่าง ๆ และการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนอีกด้วย ประกอบกับล่าสุด คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้อนุญาตให้ ส.ส.ท.เป็นผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล บริการสาธารณะประเภทที่หนึ่ง เพื่อส่งเสริมความรู้ การศึกษา ของเด็กและเยาวชน ช่องรายการสถานีโทรทัศน์ ALTV ช่องหมายเลข 4 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

แม้ว่าสถานีโทรทัศน์ ALTV จะได้ดำเนินการภายใต้ใบอนุญาตชั่วคราวมาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทางด้านการศึกษาอย่างมาก แต่เพื่อให้การดำเนินการและการกำกับดูแลในนโยบายด้านนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เมื่อวันที่ 24 – 26 กรกฎาคม 2565 คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.ได้ไปเยี่ยมและเรียนรู้ระบบการศึกษาเด็กปฐมวัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองตอกแป้น อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ภายใต้โครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ หรือไรซ์ไทยแลนด์ (RIECE Thailand) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาที่มุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาปฐมวัย เพื่อสร้างทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพให้แก่เด็กๆ โครงการนี้อยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยนำเอาหลักสูตรไฮสโคป (HighScope) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นภายใต้โครงการ Perry Preschool มาปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย ปัจจุบันได้ส่งเสริมให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในจังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ รวมถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมกว่า 50 แห่ง

ในการเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อบต. หนองตอกแป้น อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ โครงการ RIECE Thailand มีการจัดการเรียนการสอนที่ต่างกับศูนย์เด็กเล็กใน อบต. อื่น ๆ กล่าวคือ มีลักษณะให้เด็กที่มีอายุในช่วงปฐมวัย ระหว่าง 2 – 4 ปี ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดการเรียนและการทำกิจกรรมของตนเองในแต่ละวันตามต้องการ ซึ่งเป็นการฝึกให้เด็กคิดวางแผนเป็น กล้าตั้งคำถามและตอบคำถาม เน้นให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเอง เด็กนักเรียนแต่ละคนจะมีส่วนร่วมตั้งแต่การเลือกเรื่องที่ตนเองอยากเรียนรู้และแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อให้เด็กมีการพัฒนาตามวัยอันสมควร โดยโครงการมีกระบวนการติดตามการพัฒนาของเด็กอย่างสม่ำเสมอเพื่อประกอบการทำวิจัยของโครงการ ซึ่งหลังจากเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแล้ว คณะกรรมการนโยบายได้มีโอกาสไปเยี่ยมครอบครัวที่เคยส่งลูกไปเรียนที่ศูนย์ฯ ชมการเก็บข้อมูลการทำวิจัยของโครงการในพื้นที่ อบต.หนองตอกแป้น ด้วย

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2565 คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.ได้ไปพบอธิการบดีและอาจารย์มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ โดยมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์มีเป้าหมายมุ่งหวังเป็นมหาวิทยาลัยของชุมชน มากกว่าการเป็นเลิศในวิชาการ และเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนทั้งการเรียนการสอนและในการทำสื่อของมหาวิทยาลัยด้วย

รวมทั้งเยี่ยมและแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายวิชาการที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อรับทราบความคืบหน้าการก่อตั้ง “ไทยอีสาน พีบีเอส” ซึ่งเป็นแนวคิดในการพัฒนาเป็นสื่อสาธารณะของภูมิภาคอีสานในอนาคต รวมถึงก่อนเดินทางกลับได้พบปะกับพนักงานประจำศูนย์ภูมิภาคอีสานของไทยพีบีเอสที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางที่จะเชื่อมโยงกับเครือข่ายเพื่อสนับสนุนให้เกิดสื่อสาธารณะของภูมิภาคอีสานต่อไป

รองศาสตราจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เห็นว่า ระบบการเรียนการสอนแบบพิเศษของโครงการ RIECE Thailand เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสร้างพื้นฐานให้กับเด็กตั้งแต่ปฐมวัย เพื่อให้เด็กรู้จักคิด มีความกล้าที่จะแสดงออก เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งจะเป็นตัวอย่างให้เกิดการต่อยอดเพื่อการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของไทยในทุกระดับต่อไปในอนาคต

สิ่งที่ท้าทายคือ หลังจากที่เด็กจบการพัฒนาจากศูนย์ฯ ไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งมีการเรียนการสอนแบบระบบทั่วไปแล้ว พัฒนาการของเด็กที่เกิดจากการพัฒนาด้วยระบบการเรียนการสอนแบบพิเศษนี้ จะลดด้อยลงหรือไม่ และควรจัดให้มีแผนในการขยายวิธีการเรียนการสอนแบบพิเศษนี้ไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างไร ซึ่งความสำคัญอยู่ที่ “ครู” ที่ต้องเป็นผู้อำนายการให้เกิดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ มิใช่ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้สอน รวมถึงผู้ปกครองที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ไม่ใช่ส่งเด็กไปให้ครูเลี้ยง

คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.จะได้ไปเยี่ยมชมเรียนรู้ระบบการศึกษาในระดับอื่นต่อไป เช่น ระดับประถมถึงมัธยมปลายของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่อื่นๆ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนานโยบายของ ส.ส.ท. โดยเฉพาะการดำเนินการช่อง ALTV ที่ยังมีความสำคัญในพื้นที่ห่างไกล ขาดแคลนระบบอินเตอร์เน็ต