ความเคลื่อนไหว

เดินหน้าจัดเวทีแลกเปลี่ยนเพื่ออนาคต ส.ส.ท. ที่ยั่งยืน

ผู้บริหาร ส.ส.ท.ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อแสวงหาแนวทางการขยายภารกิจและสร้างความมั่นคงยั่งยืนทางการเงินให้กับสื่อสาธารณะ โดยให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมเร่งสร้างบุคลากรให้พร้อมเพื่อรองรับการทำงานในอนาคต

สืบเนื่องจากความต้องการที่จะทำให้นโยบายการขยายภารกิจและสร้างความมั่นคงทางการเงินของ ส.ส.ท.เดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม คณะกรรมการนโยบายและผู้บริหาร ส.ส.ท. ได้จัดเสวนาแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็น กับผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ในด้านการลงทุนและการทำงานเพื่อสังคมและงานสาธารณะ (Social Enterprise) อย่างต่อเนื่อง โดยจัด ครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565

สำหรับการเสวนาครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ในประเด็น “เครื่องมือการลงทุนและระดมทุนสำหรับสื่อสาธารณะ” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนกลุ่มกิจการเพื่อสังคมและงานสาธารณะทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนมาเป็นวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยน ได้แก่ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ นายธีรวัตร มูลศิลป์ Advance Digital Banker จากบริษัท คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท จำกัด (Kubix Digital Asset Company Limited) ในกลุ่มกสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป

วิทยากรทั้งสองได้แบ่งปันประสบการณ์อย่างเต็มที่ ทำให้ได้ข้อมูลและมุมมองที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินนโยบายสร้างความมั่นคงทางการเงินของ ส.ส.ท. โดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ได้แบ่งปันประสบการณ์ที่ได้จากการพัฒนาศูนย์ลงทุน (NSTDA Investment Center: NIC) ของ สวทช.ที่ประสบความสำเร็จในด้านการลงทุนและร่วมทุนในธุรกิจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขณะที่นายธีรวัตร มูลศิลป์ จากคิวบิกซ์ซึ่งเป็นภาคเอกชนได้แบ่งปันประสบการณ์ที่ผ่านมาไม่นานนี้จากความสำเร็จที่ได้จากการเปิดตัว Destiny Token โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนในรูปแบบโครงการตัวแรกของไทยกับภาพยนตร์ “บุพเพสันนิวาส 2” โดยร่วมมือกับบริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด และบริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด

วิทยากรและผู้ร่วมวงเสวนาต่างเห็นตรงกันว่า ส.ส.ท.ในฐานะสื่อสาธารณะที่มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ควรลงทุนเพื่อขยายภารกิจและสร้างความมั่นคงทางการเงินที่ยั่งยืนได้ โดยต้องจัดให้มีกลไกการทำงาน ได้แก่ ระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์วิธีดำเนินการ อย่างไรก็ตาม จะต้องให้สอดคล้องกับอำนาจและหน้าที่ภายใต้กรอบพระราชบัญญัติ ส.ส.ท. พ.ศ. 2551 รวมทั้งควรสร้างและเตรียมบุคลากรของ ส.ส.ท. ให้เข้าใจและพร้อมในการดำเนินนโยบายดังกล่าว

รองศาสตราจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบาย เห็นว่า ส.ส.ท.ได้ประโยชน์อย่างมากจากการเสวนาระดมความคิดเห็น เรื่อง “อนาคตสื่อสาธารณะกับการลงทุนทางสังคม” จากการเสวนาสองครั้งที่ผ่านมา ได้เรียนรู้รูปแบบของการลงทุนเพื่อสังคมที่หลากหลาย รวมถึงเข้าใจแนวทางการลงทุนของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนชัดเจนขึ้น และคณะกรรมการนโยบายจะได้นำไปเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโนยบายการลงทุนของ ส.ส.ท. ภายใต้บริบทของสื่อสาธารณะต่อไป