ความเคลื่อนไหว

พนักงานไทยพีบีเอสต้องมีความชัดเจนและเป็นตัวของตัวเองในการเดินหน้าทำสื่อเพื่ออนาคต

"ในฐานะผู้บริหารจะมีสิ่งใดน่ายินดีไปกว่าการที่พนักงานห่วงใยในอนาคตขององค์กร" นี่คือความรู้สึกที่รองศาสตราจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบาย ซึ่งได้กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการพบปะระหว่างคณะกรรมการนโยบายกับพนักงานไทยพีบีเอส ในช่วงบ่ายวันที่ 28 มีนาคม 2567

ตัวแทนของพนักงานที่เข้าร่วมพบปะในช่วงเวลาดังกล่าวประกอบด้วยสำนักสื่อดิจิทัล, หน่วยงานบริหาร ALTV, สำนักโทรทัศน์และวิทยุ , สำนักวิศวกรรม, ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และสำนักตรวจสอบภายใน

จากการเปิดโอกาสให้พนักงานได้สะท้อนความรู้สึกต่อองค์การอย่างเป็นอิสระ โดยไม่ระบุชื่อและสังกัด ทำให้คณะกรรมการนโยบายได้รับรู้ถึงความรู้สึกและความคิดเห็นที่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งปัญหาที่พนักงานส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ห่วงใยและสอดคล้องกับพนักงานกลุ่มอื่น ๆ ก็คืออนาคตของไทยพีบีเอส ทั้งในด้านการบริหารจัดการ นโยบายรายได้เพื่อความมั่นคงทางการเงิน ทิศทางและโครงสร้างขององค์การ ตลอดจนธรรมาภิบาลภายในองค์การ และสวัสดิการของพนักงาน

เนื่องจากในวันที่ 28 มีนาคมดังกล่าว คณะกรรมการนโยบายได้พบปะพนักงานทั้งช่วงเช้าและบ่ายอย่างต่อเนื่องทำให้ได้เห็นถึงความกระตือรือล้นของพนักงานในการสะท้อนปัญหาและแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ต้องการเห็นการสื่อสารที่ทำให้พวกเขาได้รับรู้ถึงอนาคตขององค์การและของตัวเองอย่างชัดเจน อาทิ เรื่องสถานีโทรทัศน์ 2 ช่องจะมีการทบทวน จะมีการดำเนินการอย่างไรเมื่อใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์สิ้นสุดลง ส.ส.ท.จะยังมีโทรทัศน์ภาคพื้นดินต่อไปหรือไม่ และเมื่อไม่ได้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลแล้ว จะมีการดำเนินการด้านบุคลากรที่เกี่ยวข้องอย่างไร และจะมีผลกระทบถึงรายได้ขององค์การหรือไม่

ต้องยอมรับว่าอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนขององค์การมีผลอย่างยิ่งต่อความมั่นคงในการดำเนินชีวิตของพนักงาน นับเป็นเรื่องที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้

ความเห็นและข้อมูลทั้งหมดที่คณะกรรมการนโยบายได้รับจากการพบปะและเปลี่ยนกันพนักงาน ฝ่ายนโยบายและฝ่ายบริหารจะได้นำไปพิจารณาร่วมกันเพื่อสร้างไทยพีบีเอสให้ก้าวสู่อนาคตอย่างยั่งยืน

พนักงาน “อยากบอก”

  • ขอบคุณที่ทำให้ ส.ส.ท. มีเป้าหมายชัดเจน มีทิศทางการพัฒนาไปสู่อนาคต โดยฝากความเห็นว่า ไทยพีบีเอสต้องมีความชัดเจนและเป็นตัวเองในการเดินหน้าทางทีวีเพื่ออนาคต
  • ขอบคุณที่โอกาสให้พนักงานระดับปฏิบัติการได้มีโอกาสพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างกัน พยายามรับฟังและคิดถึงประโยชน์ของพนักงาน และ ขอให้ กนย.ลงมาสัมผัสกับพนักงานมากกว่าที่ผ่านมา
  • ดูแลพนักงานที่มีอยู่ให้ได้รับการเอาใจใส่ทุก ๆ เรื่อง เพื่อเป็นขวัญ กำลังใจ เช่น สวัสดิการ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ทำงานมานาน
  • อยากได้ห้องสมุดกลับคืนมา

 

พนักงาน “อยากถาม”

  • อยากทราบถึงทิศทางของส.ส.ท.ในอนาคต
    – ช่องทางเผยแพร่งานของ ส.ส.ท. หลังปี 2572 จะยังคงมีโทรทัศน์ภาคพื้นดินหรือไม่ และจะยังคงให้ความสำคัญกับการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกต่อไปหรือไม่
    – วางแผนว่าจะปรับเปลี่ยนและดำเนินงานในรูปแบบใด (ทั้งโทรทัศน์ และสื่อใหม่)
    – การออกอากาศโทรทัศน์ 2 ช่อง (ช่องหมายเลข 3 และ หมายเลข 4 ALTV) จะมีการทบทวนความคุ้มค่าและการผลิตอออกอากาศ หรือไม่ อย่างไร
  • อยากทราบทิศทางการนำ ส.ส.ท. ไปสู่ยุคดิจิทัลในปัจจุบัน เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมของพนักงาน
  • อยากทราบมุมมอง กนย.เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ ที่มีอยู่บ่อยครั้ง
  • ความเห็นของพนักงานในประเด็น “ปัญหาภายในหน่วยงาน” และ “ความภาคภูมิใจ”

ความเห็นของพนักงานในประเด็น “ปัญหาภายในหน่วยงาน” และ “ความภาคภูมิใจ”

ปัญหาภายในหน่วยงาน

  • กำลังคนไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นปัญหาร่วมของแทบทุกหน่วยงาน
  • บุลากรไม่มีทักษะในการทำงาน ควรพัฒนาผู้ปฏิบัติงานให้มีความรู้ความสามารถเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง
  • เครื่องมือไม่มีการปรับปรุง

ความภาคภูมิใจ

  • ภูมิใจในความเป็น ส.ส.ท. และได้ทำงานในไทยพีบีเอสเพื่อให้บริการและเป็นสื่อสาธารณะที่เป็นกลางเพื่อประชาชน
  • ภูมิใจที่ได้ใช้ความรู้ ความสามารถอย่างเต็มที่ในการทำงาน
  • ภาคภูมิใจเมื่อผลงานออกสู่สายตาประชาชนและได้รับคำชื่นชม