กนย. พบตัวแทนศูนย์ภูมิภาคไทยพีบีเอส ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการกระจายอำนาจ
คณะกรรมการนโยบาย ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. กรรมการบริหาร และตัวแทนพนักงานจาก 3 ศูนย์ภูมิภาคของไทยพีบีเอส ได้พบปะแลกเปลี่ยนกันถึงความคืบหน้าในนโยบายการกระจายอำนาจ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 67 คณะกรรมการนโยบายได้เชิญตัวแทนพนักงานจาก 3 ศูนย์ภูมิภาค จากเชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่ เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนที่สำนักงานใหญ่ไทยพีบีเอส กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องในโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายพบปะกับตัวแทนของพนักงานกลุ่มต่าง ๆ ในโอกาสนี้คณะกรรมการนโยบายได้สอบถามถึงนโยบายการกระจายอำนาจที่มีร่วมกันคิดร่วมกันทำมาตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่ามีความคืบหน้าไปมากน้อยเพียงไร หรือมีแง่มุมใดที่ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกันอันเนื่องมาจากการตีความวัตถุประสงค์และทิศทางในการดำเนินนโยบายที่ไม่ตรงกัน ทั้งในเรื่องของการกระจายอำนาจการบริหารจัดการและยกระดับให้ศูนย์ภูมิภาคเป็นสำนักงานสาขา กับการส่งเสริมและสนับสนุนให้จัดตั้งสื่อสาธารณะภูมิภาคโดยร่วมมือกับเครือข่ายและสื่อท้องถิ่น
ตัวแทนพนักงานจาก 3 ศูนย์ภูมิภาค ทั้งจากสำนักข่าว สำนักวิศวกรรม และสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ได้ร่วมแบ่งปันแนวทางการดำเนินการของแต่ละศูนย์ ที่มีทั้งจุดเหมือนและจุดต่าง อย่างไรก็ตาม ตัวแทนพนักงานเห็นตรงกันว่าปัจจุบันกลไกการบริหารจัดการภายในเอื้อต่อการทำงานในภูมิภาคมากขึ้น ทำให้แต่ละศูนย์ได้ใช้ศักยภาพในการทำงานได้อย่างเต็มที่มากขึ้น ทั้งในเรื่องเครือข่ายด้านงานข่าวและการผลิตเนื้อหา รวมทั้งด้านวิศวกรรม โดยทั้ง 3 ศูนย์มีการประสานงานภายในและระหว่างศูนย์
การพบปะกันครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดียิ่งและนับเป็นครั้งแรกที่ตัวแทนพนักงานจาก 3 ศูนย์ภูมิภาคได้แลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องการกระจายอำนาจของ ส.ส.ท.พร้อมหน้ากัน
เช่นเดียวกับเวทีการพบปะกับพนักงานหน่วยงานอื่นๆ ที่ผ่านมา ในตอนเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นคณะกรรมการนโยบายได้เปิดโอกาสให้พนักงานได้สะท้อนความรู้สึกต่อองค์การและต่อคณะกรรมการนโยบายอย่างเป็นอิสระ ในหัวข้อ “อยากบอก กนย.” และ “อยากถาม กนย.” โดยให้เขียนลงกระดาษแบบไม่ระบุชื่อและสังกัด เพื่อที่จะได้รับรู้ถึงความรู้สึกและความคิดเห็นที่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ต่อการดำเนินงานทั้งของหน่วยงานต้นสังกัดและต่อองค์การโดยภาพรวม ความคิดเห็นที่สะท้อนออกมาส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการกระจายอำนาจ เช่น แต่ละภูมิภาคเข้าใจการกระจายอำนาจที่ไม่ตรงกัน อยากได้ความชัดเจนในเรื่องนี้ เพื่อจะได้ออกแบบการทำงานได้ตรงตามเป้าประสงค์ของคณะกรรมการนโยบาย นอกจากนั้น เป็นความรู้สึกร่วมของทุกกลุ่มที่ได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะกรรมการนโยบาย คือ ความเป็นห่วงในอนาคตของไทยพีบีเอส ทั้งเรื่องทิศทางของไทยพีบีเอสที่มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อ ความสร้างมั่นคงยั่งยืนให้กับไทยพีบีเอส และการทำอย่างไรที่จะให้รายการที่ดี ๆ ของไทยพีบีเอสมีผู้รับชมมากขึ้น
สำหรับคำถามของพนักงานที่ถามคณะกรรมการนโยบายว่า มีเรื่องอะไรที่คณะกรรมการนโยบายคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญแต่ยังไม่ได้ทำ หรือยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ซึ่งผู้บริหารในชุดต่อไปควรต้องให้ความสำคัญและดำเนินการต่อในลำดับต้นๆ รองศาสตราจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบายให้คำตอบว่า ยังมีเรื่องคั่งค้างอยู่อีก ๓ เรื่องด้วยกัน ที่อยากให้ดำเนินการต่อเพื่อผลักดันไทยพีบีเอสให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จตามนโยบาย มีอนาคตที่ยั่งยืนและมั่นคง คือ
- การกระจายอำนาจยังดำเนินการไปอย่างล่าช้า แม้ปัจจุบันจะมีการบูรณาการ การมอบอำนาจที่มากขึ้น แต่ยังไม่เป็นการกระจายอำนาจที่แท้จริง เพราะสุดท้ายแล้ว คณะกรรมการนโยบายมุ่งให้มีการกระจายอำนาจการตัดสินใจในการบริหารงานของแต่ละศูนย์และมีผลิตผลช่องทางการนำเสนอสื่อของตนเอง เป็น Thai PBS ของแต่ละภูมิภาค
- ทิศทางของโทรทัศน์ภาคพื้นดินหลังปี 2572 ซึ่งใบอนุญาตจะหมดอายุลงในปี 2571 ไทยพีบีเอสจะต้องมีทิศทางที่จะบริหารจัดการและปรับตัวในการให้บริการโทรทัศน์ให้ดี เพื่อให้ไทยพีบีเอสยังคงเป็นสื่อสาธารณะที่ได้รับความเชื่อถือและให้ประโยชน์ต่อสังคมไทยต่อไป
- ไทยพีบีเอสจะต้องมีแนวทางการหารายได้เพิ่มให้ชัดเจนโดยเร็วและเห็นผลก่อนปี 2572 ซึ่งเป็นปีที่ไทยพีบีเอส อาจจะมีรายได้ลดลงหรือไม่มีรายได้จากการให้บริการโครงข่าย
พนักงาน “อยากบอก”
- แต่ละภูมิภาคเข้าใจการกระจายอำนาจที่ไม่ตรงกัน
- พร้อมทำตามนโยบายกระจายอำนาจ แต่ยังไม่ชัดเจนเรื่องนี้ เมื่อทราบความชัดเจนของการกระจายอำนาจ ก็จะสามารถออกแบบการทำงานได้
- เจ้าหน้าที่เต็มใจและพร้อมเสมอที่จะให้ความร่วมมือกับองค์การในด้านต่างๆ เพื่อให้เป็นหนึ่งเดียว เช่น ประหยัดงบประมาณให้องค์การ การร่วมสร้างสิ่งดี ๆ ต่อผู้อื่น และจะมุ่งมั่นทำงานให้เต็มที่
- เข้าใจและให้กำลังใจที่ท่าน (กนย.) ทุกคนพยายามสนับสนุนให้ภูมิภาคเติบโต และขอให้ทุกท่านเชื่อมั่นในศักยภาพของคน
- การพบปะกันพนักงานต่างจังหวัดที่ได้ไปรับฟังเรื่องราวต่างๆ มีการประชุมกับ กบห. แล้วมีการแก้ไขกันบ้าง แต่ยังไม่ค่อยจะเห็นผลมากนัก
พนักงาน “อยากถาม”
- มีอะไรที่ กนย.คิดว่ายังไม่ได้ทำในช่วงที่ดำรงวาระที่ผ่านมา และ ส.ส.ท. ต้องดำเนินการต่อในอันดับต้น ๆ
- มีอะไรที่ กนย.คิดว่ายังไม่ได้ทำในช่วงที่ดำรงวาระที่ผ่านมา และ ส.ส.ท.ต้องดำเนินการต่อในอันดับต้นๆ แล้วอะไร
ที่ กนย.คิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ต้องทำต่อ - รายการของไทยพีบีเอส เป็นรายการดีมีคุณภาพ แต่ทำไมมีผู้ชมน้อย จะแก้ไขอย่างไร หลังปี 72 ไทยพีบีเอส เป็นอย่างไร
- กนย.มองอนาคตกับเงิน 2,000 ล้านบาท เพียงพอหรือไม่เพียงพอ ต่อการบริหารในอนาคตอย่างไร+ความมั่นคงของวิชาชีพ
- การกระจายอำนาจที่ว่า กนย.ต้องการแบบไหน ความสำเร็จของการกระจายอำนาจคืออะไร
- กนย.ประเมินทิศทางการกระจายอำนาจต่อจากนี้อย่างไร
- ทิศทางไทยพีบีเอสต่อจากนี้การเติบโตจะเป็นอย่างไร ทั้งส่วนกลางและสาขา อะไรคือความเสี่ยงที่ต้องเตรียมตั้งรับ ปรับตัวสำหรับคนทำงาน ส่วนบริหาร
- กนย.ตั้งเป้าแผนพัฒนา ThaiPBS ในอนาคตอย่างไร เพื่อรับมือกับการแข่งขันของสื่อออนไลน์ที่มีมากขึ้น