ความเคลื่อนไหว

กนย. พบพนักงานและสมาพันธ์พนักงานของ ส.ส.ท. ร่วมกันขับเคลื่อนองค์การไปสู่เป้าหมาย

คณะกรรมการนโยบายส่งท้ายกิจกรรมพบพนักงาน ด้วยการพบกับสมาพันธ์พนักงาน ส.ส.ท. ต่างห่วงใยในอนาคตและพร้อมร่วมมือกันขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืนขององค์การ

สืบเนื่องจากการที่คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.ชุดปัจจุบันได้จัดกิจกรรมพบตัวแทนพนักงานจากทุกสำนักและศูนย์ รวมทั้งศูนย์ภูมิภาคทั้ง 3 ศูนย์ ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ในวันที่ 11 เมษายน ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งสุดท้ายของกิจกรรมดังกล่าว โดยคณะกรรมการนโยบายได้พบกับสมาพันธ์พนักงาน ส.ส.ท. ซึ่งนอกจากกรรมการสมาพันธ์แล้ว ยังมีพนักงานอีกจำนวนหนึ่งเข้าร่วมด้วย ทั้งที่บริเวณสถานที่ จัดกิจกรรมและทางออนไลน์ ในการพบปะครั้งนี้อบอุ่นและรื่นรมย์ เนื่องจากอยู่ในเทศกาลสงกรานต์ ก่อนเริ่มกิจกรรม ชมรมดนตรี ไทยพีบีเอสได้ร่วมบรรเลงเพลงและตัวแทนสมาพันธ์ได้มอบพวงมาลัยและขอพรจากกรรมการนโยบายด้วย ขณะที่ประธานกรรมการนโยบายได้เน้นย้ำในช่วงกล่าวเปิดงานว่า การพบปะกันครั้งนี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของคนในครอบครัวเดียวกัน

คณะกรรมการนโยบายยังคงใช้รูปแบบเดียวกับกิจกรรมครั้งก่อนๆ คือเปิดโอกาสให้กรรมการสมาพันธ์และพนักงานได้เขียนแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ ในประเด็นที่ “อยากบอก” และ “อยากถาม” คณะกรรมการนโยบาย โดยไม่ต้องระบุชื่อและหน่วยงานที่สังกัด สำหรับกลุ่มนี้ทั้งกรรมการสมาพันธ์และพนักงานได้สะท้อนแนวคิด ความต้องการของพนักงานเน้นไปที่เรื่องของสวัสดิการและขวัญกำลังใจของพนักงาน ขณะเดียวกันก็แสดงความห่วงใยต่ออนาคตขององค์การ โดยเฉพาะในเรื่องความมั่นคงทางการเงินและการหารายได้เพิ่ม ประสงค์ที่จะเห็นนโยบายและแนวทางเชิงรุกในเรื่องเหล่านี้ นอกจากนั้น พนักงานส่วนหนึ่งต้องการมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลการสรรหากรรมการนโยบาย และผู้อำนวยการ ส.ส.ท.

คณะกรรมการนโยบายได้ใช้โอกาสนี้แลกเปลี่ยนและให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ต่อคำถามและข้อสงสัยของสมาพันธ์และพนักงาน พอสรุปได้ดังนี้

  1. ความมั่นคงยั่งยืนทางการเงินและงบประมาณขององค์การ คณะกรรมการนโยบายได้แจ้งให้ทราบว่าเป็นเรื่องที่สมาพันธ์ พนักงาน และกรรมการทั้งฝ่ายนโยบายและฝ่ายบริหาร ต่างเห็นสอดคล้องกัน คณะกรรมการนโยบายได้มีนโยบายในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ได้ตั้งคณะอนุกรรมการที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาช่วยให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อประกอบการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบาย โดยฝ่ายบริหารก็ได้เริ่มดำเนินการตามนโยบายเรื่องนี้ผ่านการจัดทำแผนบริหารกิจการและแผนงบประมาณประจำปี 2568 แล้ว
    คณะกรรมการนโยบายเห็นว่าเพื่อให้องค์การมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต การปรับโครงสร้างภายใน การหารายได้เพิ่มตามกรอบของกฎหมาย ต้องทำควบคู่ไปกับการลดค่าใช้จ่าย ในอนาคตอาจมีเรื่องการร่วมทุน ซึ่งต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เพื่อแสวงกำไร แต่เพื่อหารายได้มาเสริมการขยายงานตามภารกิจและวัตถุประสงค์ขององค์การ คือการเป็นสื่อสาธารณะ
  2. บทบาทของคณะกรรมการนโยบาย พนักงานจำนวนไม่น้อยยังไม่เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบาย และความสัมพันธ์กับฝ่ายบริหารและพนักงาน คณะกรรมการนโยบายได้ชี้แจงว่ากรรมการนโยบายมาจากกระบวนการสรรหาเพื่อเข้ามาทำหน้าที่กำหนดนโยบายในภาพรวม กำกับการทำงานของฝ่ายบริหาร และปกป้องให้ไทยพีบีเอสเป็นสื่อที่มีความเป็นอิสระ ส่วนหน้าที่การบริหารจัดการเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร คณะกรรมการนโยบายจึงไม่ได้ลงไปมีความสัมพันธ์ในด้านการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ เพียงแต่อาศัยการพบปะกับพนักงานเป็นรายปี หรือตามความเหมาะสม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
  3. การมีส่วนร่วมและรับรู้การสรรหาคณะกรรมการนโยบายและผู้อำนวยการ ส.ส.ท. คณะกรรมการนโยบายเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก ตลอดจนถึงการมีส่วนร่วมในการรับรู้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ภายในองค์การ โดยเฉพาะในส่วนของผู้ที่จะเข้ามาทำงานเป็นผู้บริหารองค์การ ทั้งด้านนโยบายและด้านบริหาร คณะกรรมการนโยบายเห็นว่า ความประสงค์ที่จะขอมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลการสรรหาทั้งกรรมการนโยบายและผู้อำนวยการ ส.ส.ท. มิได้เป็นการแทรกแซงกระบวนการสรรหาแต่อย่างใด จึงมอบหมายให้เลขาคณะกรรมการสรรหา นำข้อเสนอดังกล่าวไปหารือกับคณะกรรมการสรรหาทั้ง 2 ชุด

รองศาสตราจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบายแสดงความคิดเห็นในช่วงท้ายว่า หากพนักงานหลอมรวมกับองค์การ และองค์การหลอมรวมกับสาธารณะได้ จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งองค์การและประเทศชาติ

พนักงาน “อยากบอก”

  • ขอบคุณที่ทำให้ ส.ส.ท.มีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น และรับฟังพนักงาน โดยอยากให้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นกับพนักงานลักษณะนี้บ่อย ๆ
  • อยากให้ กนย. ช่วยดูแลเรื่องสวัสดิการของพนักงานให้มีการตอบแทนที่เพียงพอกับสถานการณ์ปัจจุบัน และมีสวัสดิการที่ครอบคลุม
  • อยากให้มีการพัฒนา ส่งเสริมการลงทุนในส่วนพนักงานให้หลากหลายช่องทางขึ้น นอกจากสหกรณ์ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • อยากให้ กนย.หาแนวทางการทำงานเชิงรุก เพื่อทำลายข้อจำกัดต่างๆ ที่ทำให้ ส.ส.ท. สู้กับสื่ออื่นไม่ได้

พนักงาน “อยากถาม”

  • อนาคต ส.ส.ท.จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
  • มีอะไรที่ กนย.คิดว่ายังไม่ได้ทำในช่วงที่ดำรงวาระที่ผ่านมา และ ส.ส.ท.ต้องดำเนินการต่อในอันดับต้น ๆ และอะไร ที่ กนย.คิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ต้องทำต่อ
  • มีพนักงานที่อาจหมดไฟหรือหมดพลังใจ กนย.มีวิธีการแก้ไข ฟื้นฟูพลังใจให้มีสภาพจิตใจดีและมีไฟในการทำงานได้อย่างไร
  • ปัจจุบันมีนโยบายการหารายได้เรื่องการหารายได้มีความชัดเจนอย่างไร และกนย.มีวิธีผลักดันด้านกฎหมายอย่างไรให้เอื้อต่อผู้ปฏิบัติงานในการหารายได้
  • กนย.มององค์กรในอนาคตในทิศทางไหนและมีแนวทางพัฒนาในอนาคตต่อองค์กรและพนักงานอย่างไร
  • ไทยพีบีเอสจะเติบโตและพัฒนาก้าวหน้าอย่างไรในยุคดิจิทัล และหลังปี 2572
  • ควรให้พนักงานมีส่วนร่วม ในการคัดเลือก ผอ. ส.ส.ท.