รากเหง้าของไทยพีบีเอส คือ ITV ทีวีเสรี ที่ก่อเกิดมาจากแนวคิดปฏิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ภายใต้รัฐ ซึ่งบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร การใช้ความรุนแรงของรัฐต่อผู้ชุมนุม ต่อต้านนายกรัฐมนตรีคนนอก ในห้วงเดือนพฤษภาคม 2535 จนกระทั่งเกิดองค์กรขึ้นมาอย่างน้อย 2 องค์กรหลัก องค์กรหนึ่งทำหน้าที่ปฏิรูปโครงสร้างการจัดการคลื่นวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ ได้แก่ กสทช อีกองค์กรหนึ่งคือ สถานีโทรทัศน์เสรี หรือไอทีวี ซึ่งคาดหวังกันในขณะนั้นว่า จะนำเสนอข้อมูล ข่าวสารอย่างเป็นอิสระ
ดังนั้น เราจึงเห็นถ้อยคำ ที่ตอกย้ำความเป็นอิสระของไทยพีบีเอส ในพระราชบัญญัติจัดตั้งหลายมาตรา เช่น ไทยพีบีเอส มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ แต่ดำเนินการภายใต้ทุน ทรัพย์สิน และรายได้ขององค์การ (มาตรา 5)
ในสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดหวังสื่อที่เป็นอิสระได้อย่างแท้จริง เพราะล้วนแต่เกาะเกี่ยวกับอำนาจรัฐ และอำนาจทุน ไทยพีบีเอสจึงเป็นความหวังหนึ่งเดียวของความเป็นสื่อ ที่จะสะท้อนภาพความเป็นจริงอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา
หน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายคือการตัดสินใจ บนพื้นฐานของประสบการณ์และความเข้าใจถึงปรัชญาและแนวคิดขององค์การ คณะกรรมการต้องตัดสินใจทุกเรื่องที่อาจส่งผลกระทบต่อองค์การ ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับการประเมินข้อมูล การจัดลำดับความสำคัญ และสุดท้ายคือการตัดสินใจ จากความรู้ ความคิดเห็น ทัศนคติ และประสบการณ์ของคณะกรรมการทุกคน
บทสรุปของไทยพีบีเอสเมื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ซึ่งพระราชบัญญัติ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 มาตรา 51 กำหนดให้มีการทบทวนบทบาทของสื่อสาธารณะนั้น คือ การทำให้ไทยพีบีเอสเป็นสื่อที่ประชาชน มีความเชื่อมั่น และวางใจได้ว่า ในสถานการณ์ที่สื่อทั้งหลาย ต่างอยู่ในเงื่อนไขที่ต้องทำงานภายใต้ทุน และภาวการณ์แข่งขัน ไม่มีอิสระอย่างแท้จริง ขาดความเชื่อมั่นในการทำงานตามกรอบจริยธรรม ยังมีไทยพีบีเอสเป็นสื่อที่วางใจและเป็นที่พึ่งสุดท้ายให้กับพวกเขาได้
- 1 กุมภาพันธ์ 2503
- ปริญญาตรี นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ปริญญาโท นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.14) วิทยาลัยการยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม
- ผู้สื่อข่าวการเมืองและเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ตะวันสยามและข่าวสด
- ผู้ช่วยหัวหน้าข่าว หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจการเมือง รายวัน
- ผู้ช่วยหัวหน้าข่าว บรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
- บรรณาธิการที่ปรึกษาเครือเนชั่น
- ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
- กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
- อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว มหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น
- กรรมการบริหารสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์กรมหาชน)